วัดกร่าง ตั้งอยู่ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางกระมือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2300 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยประชาชนในละแวกนั้นช่วยกันสร้างขึ้น เดิมมีชื่อว่า “วัดดงดารา” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2320 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร ได้ดำเนินการผูกพัทธสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2423
-พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ “หลวงพ่อนรสิงห์” เป็นพระพุทธรูปศิลาศิลปะอยุธยาเก่าสมัยเชียงแสน รูปหล่อหลวงปู่หรำ เกสโร รูปหล่อหลวงพ่อหวล ปภสฺสโร หอสวดมนต์แบบรามัญ กุฏิเรือนไทย
ประวัติหลวงปู่หรำ เกสโร
หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่างชาตะเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๑๕ ที่บ้านตำบลบางกระบือ อ.สามโคก ปทุมธานี เป็นบุตรของคุณพ่อแอบและคุณแม่เผือน ท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางอักขระสมัยในวัดบ้านกร่างจนอ่านออกเขียนได้และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 17 ปี จนอายุครบอุปสมบท พระอธิการนอม วัดกร่าง จึงรับเป็นธุระอุปสมบทให้ร่วมกับโยมบิดามารดาของหลวงพ่อหร่ำ โดยมีพระอธิการหิน วัดสวนมะม่วง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการนอม วัดกร่างเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า "เกสโร"
เมื่อบวชแล้วท่านก็ได้ศึกษาหาความรู้ต่างๆ จากพระอธิการหิน วัดสวนมะม่วง ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และกับพระอธิการนอม อดีตเจ้าอาวาสวัดกร่าง หลวงพ่อนอมฯ เป็นพระผู้เชี่ยวชาญในด้านกัมมัฎฐานและพระเวทวิทยาคมยิ่งนักและเป็นสหายทางธรรมกับหลวงพ่อกลั่น ธัมมะโชโตแห่งวัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งคราใดก็ตามที่หลวงพ่อกลั่นท่านเข้ามากรุงเทพฯ ท่านจะต้องแวะวัดกร่างเพื่อเยือนหาสู่หลวงพ่อนอมอยู่เสมอ โดยหลวงพ่อกลั่นอ่อนอาวุโสกว่าหลวงพ่อนอม และนอกจากนี้ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกก็ยังเคยมาศึกษาวิชากับหลวงพ่อนอมถึงที่วัดกร่างอีกด้วย
ครั้นเมื่อหลวงพ่อนอมฯ มรณภาพลง พระอาจารย์กันต์ที่เป็นคู่สวดของหลวงพ่อหร่ำก็ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน แต่ไม่นานก็สึกลาเพศไป ทางวัดกร่างขาดเจ้าอาวาสสืบแทน ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อหร่ำที่เป็นพระผู้สำรวมระวังในพระธรรมวินัยขึ้นครองวัดสืบแทน
อนึ่งในสมัยบั้นปลายชีวิตหลวงพ่อนอมฯ ได้ไว้ใจให้หลวงพ่อหร่ำลงตะกรุดโทนและถวายให้ท่านปลุกเสกกำกับ และตอนหลังหลวงพ่อนอมได้บอกกับญาติโยมว่า "ถ้าต้องการได้ตะกรุดโทนล่ะก้อ ไม่ต้องมาหาฉันเพราะฉันหูตาไม่ดีแล้ว ให้ท่านหร่ำเขาลงให้และปลุกเสกให้ ส่วนถ้าจะให้ฉันปลุกเสกก็ค่อยเอามาให้ตอนหลังก็ได้ ท่านหร่ำเขาก็เสกได้เหมือนฉันนั่นแหละ "
หลวงพ่อหร่ำนิยมออกธุดงค์เป็นประจำ ท่านได้นำพระกรุเก่าที่ได้จากการธุดงค์มาบรรจุไว้ในวัดกร่างที่มีผู้พบแตกกรุตอนหลัง ซึ่งต่างคิดว่าหลวงพ่อหร่ำท่านสร้างไว้ แต่ความจริงแล้วเข้าใจผิด เพราะหลวงพ่อไปนำพระเหล่านี้จากกรุเก่าที่ท่านธุดงค์มาบรรจุไว้ ซึ่งสร้างปรากฎการณ์อภินิหารมากมาย
ตะกรุดโทนของหลวงพ่อหร่ำ เรื่องมหาอุดสุดยอด ยิงปืนไม่ลั่น กระบอกปืนบวมกันมานักต่อนักแล้ว ส่วนเหรียญทำบุญอายุของท่านปี ๒๔๖๙ ที่คณะศิษย์ได้ร่วมใจกันจัดสร้างให้หลวงพ่อหร่ำปลุกเสก ด้านหน้าเป็นรูปท่านนั่งเต็มองค์ ตรงหน้าหลวงพ่อมีบาตรน้ำมนต์และมีลิงอยู่ด้วย ซึ่งลิงที่ปรากฎนี้เป็นการแทนความหมายปีเกิดของท่านซึ่งก็คือปีวอก ด้านหลังเป็นยันต์สี่ เหรียญนี้ทางมหาอุดดังมากจนมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อมาว่า.
..
ในคืนเดือนมืดวันหนึ่ง มีชายฉกรรจ์สามคนพายเรือมาจอดที่หน้าวัดกร่าง แล้วทั้งสามคนก็เดินขึ้นไปบนกุฎิหลวงพ่อหร่ำซึ่งยังจุดตะเกียงลานเหมือนจะรอชายทั้งสามอยู่ พอชายทั้งสามกราบนมัสการหลวงพ่อหร่ำท่านก็พูดลอย ๆ ว่า " ไอ้คนโตเอาหัวของข้าไปปล้นเขากิน ไอ้คนกลางเอาอกของข้าไปลักวัวควายชาวบ้านเขา ส่วนไอ้คนสุดท้องเอาขาข้าไปย่องเบา พวกเอ็งมันเอาข้าไปหากินจนเขาเดือนดร้อนกันไปทั่ว ข้ารอพวกเอ็งมานานแล้ว รู้ว่าอย่างไรเสียพวกเอ็งก็ต้องมาหาข้า เพราะเอ็งมันเห็นว่าหลวงตาองค์นี้ช่วยพวกเอ็งหากิน ต่อไปนี้หากเอ็งไปปล้นใครอีก หรือไปขโมยของใครอีก จะต้องฉิบหายตายโหงแม้โลงก็จะไม่มีใส่ เอาชิ้นส่วนของข้าคืนมาให้หมด "
ทั้งสามคนตกใจหน้าซีดตัวสั่นปากคอสั่นเพราะไม่เคยมาหาหลวงพ่อหร่ำ แต่ท่านกลับพูดได้อย่างถูกต้องทุกอย่าง คนโตที่เป็นพี่ใหญ่เคยใช้เหรียญหลวงพ่อหร่ำไปปล้นแล้วถูกเจ้าทรัพย์ยิงเอา แต่ยิงไม่ออก ออกก็ไม่ถูก ถูกก็ไม่เข้า จึงชวนน้องคนกลางกับคนสุดท้องมาร่วมทำมาหากินในทางลักขโมยโดยเอาเลื่อยตัดแบ่งเหรียญหลวงพ่อหร่ำเป็นสามส่วนเหมือนที่หลวงพ่อหร่ำบอก
ชายที่เป็นพี่ใหญ่โต้หลวงพ่อหร่ำว่า " ให้ผมเลิกอาชีพโจรลักเล็กขโมยน้อยไม่ยาก ผมรับปาก เพราะเมื่อหลวงพ่อสาปแช่งแล้วผมก็ไม่อาจจะทำมาหากินทางทุจริตได้อีก แต่เรื่องให้ผมคืนชิ้นส่วนเหรียญให้หลวงพ่อ ผมทำไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบชีวิตของพวกผมเล่า "
หลวงพ่อหร่ำจึงหยิบเหรียญรุ่นแรกของท่านออกมาจากย่ามสามเหรียญ แล้วบอกกับพวกโจรว่า " เอาชิ้นส่วนมาแลกเป็นเหรียญเต็ม ๆ ไป ข้าเก็บเอาไว้ให้พวกเอ็งสามเหรียญ จงเลิกอาชีพนี้เสีย ไปประกอบอา ชีพใหม่ให้สุจริต แล้วใครก็ทำอะไรเจ้าไม่ได้ แม้แต่อาญาบ้านเมืองก็จะไม่มาคร่าตัวไปได้ "
หลวงพ่อหร่ำเป็นพระที่มีพรรษกาลสูง อายุ ๘๘ จึงมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๔ ด้วยพรรษที่ ๖๘
ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจ ดาราธรรมดอทเน็ต วัดกร่าง อ.สามโคก ปทุมธานี
ขอบคุณที่มา
1.ทัวร์วัดไทย
บทความเกี่ยวข้อง